พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ณ วัดบึง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
วัดบึง ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองนครราชสีมา ใกล้กับประตูชุมพล เลขที่ ๘๒ ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เหตุที่ชื่อวัดบึงเนื่องจากวัดนี้สร้างและตั้งอยู่กลางบึง ปัจจุบันวัดบึงเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๗ ไร่
วัดบึงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๐ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงโปรดให้สร้างเมืองนครราชสีมาและวัดประจำเมืองซึ่งมีอยู่ประจำทิศต่าง ๆ ภายในกำแพงเมือง ๖ วัด ได้แก่ วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) วัดบูรพ์ วัดอีสาน วัดพายัพ วัดสระแก้ว และวัดบึง
ปัจจุบันวัดบึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ยกให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๓ ตอนที่ ๗๔ ข. วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙
พื้นที่วัดบึงมีอาณาเขตทิศเหนือติดกับถนนจอมพล ทิศใต้ติดกับถนนมหาดไทย ทิศตะวันออกติดกับสถานีกาชาดและที่ดินเอกชน มีกำแพงล้อมรอบวัด มีประตูเข้าออกทั้ง ๔ ด้าน ถนนภายในวัดเชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยศิลปะ โบราณวัตถุ สถานที่ทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปกรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ พระอุโบสถ ตู้พระธรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมต่าง ๆ ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุง และปฏิสังขรณ์ให้คงสภาพเดิมตลอดมา
พระอุโบสถของวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๓๐ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งมีฐานพระอุโบสถแอ่นแบบเรือสำเภา ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐ ถือปูน กว้าง ๑๒.๑๕ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สูง ๓๐ เมตร หลังคาจั่ว ๒ ชั้น เชิงชาย ๓ ชั้น หน้าบันด้านทิศตะวันออกแกะสลักเป็นลายกนก ก้านขด มีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ตรงกลาง ส่วนหน้าบันด้านทิศตะวันตกแกะสลักลายกระหนก ก้านขดมีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอยู่ตรงกลาง เสาพระอุโบสถเป็นเสากลมขนาดใหญ่ ๑๔ ต้น มีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง คันทวยไม้สวยงามแกะสลักเป็นรูปพญานาคทั้งหมด ๑๒ อัน แต่ละอันยาว ประมาณ ๒ เมตร เป็นพระอุโบสถที่มีความสวยงาม ความวิจิตรพิสดารและมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม เป็นโบราณวัตถุที่มีค่ามหาศาลควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ซึ่งมีปรากฏและคงเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พระอุโบสถวัดบึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ โดยรักษาคุณค่าของลักษณะสถาปัตยกรรมเดิมไว้ เสริมด้วยตาข่ายป้องกันนกเข้าไปอาศัยในหน้าบันทั้งสองด้าน ซึ่งถ้าหากไม่สังเกตจะมองไม่เห็น แต่บันไดทางขึ้นพระอุโบสถทั้งสองด้านทำบันไดนาคขอมขึ้นใหม่ ปัจจุบันวัดบึงได้ดูแลรักษาพระอุโบสถหลังนี้ไว้เป็นอย่างดีจนได้รับประกาศเชิดชูเกียรติจากศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกโคราชในวันอนุรักษ์มรดกไทย ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔
ด้านหลังพระอุโบสถมีเจดีย์ ๑ องค์ สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง-ยาว ๑๐ เมตร สูง ๒๕ เมตร ฐานสูง ๓ เมตร มีรูปปั้นสิงห์คู่ประดับอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออก เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิของอดีตเจ้าอาวาสวัดบึงและอัฐิของบรรพบุรุษที่ปฏิสังขรณ์ เจดีย์นี้
เจดีย์ของวัดบึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ พระมงคลสีหราชมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดบึงและเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการบูรณะใหม่ทั้งองค์ และ พ.ศ.๒๕๓๔ พระปทุมญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดบึงและที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ยกฉัตรเจดีย์ขึ้น ซ่อมแซมกำแพงแก้วเป็นเหล็กดัด ซ่อมแซมหอระฆังตลอดถึงยอดเจดีย์ และใช้ทองทาเป็นสีเหลืองทั้งองค์
พระประธานของวัดบึงแห่งนี้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๖ ศอก ประทับนั่งสมาธิราบ เป็นลักษณะของศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ศิลปะสมัยลพบุรี สูง ๖๒ นิ้ว ประดิษฐานข้างองค์พระประธานจำนวน ๖ องค์ พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปกรรมสมัยลพบุรี ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๙ นิ้ว สูง ๓ ฟุต ภายนอกพระอุโบสถประกอบด้วย กำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูน ใบเสมาหินทราย ๘ ทิศ เป็นเสมาคู่ ประดิษฐานอยู่บนฐานสิงห์ ตอนบนเป็นบัวเกษร
ตู้พระธรรมวัดบึง ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมประเภทตกแต่ง เป็นจิตรกรรมที่เขียนตกแต่งเป็นลายรดน้ำตามตู้พระธรรมหรือหีบหนังสือ นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมประเภทตกแต่งในจังหวัดนครราชสีมาพบได้อีกมากมายที่ ตู้พระธรรมที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมหาวีรวงศ์ วัดสุทธจินดา วัดบูรพ์ อ.เมือง วัดนกออก วัดพระเพลิง ตู้พระธรรมในหอไตรกลางน้ำ วัดตะคุ อ.ปักธงชัย ซึ่งอยู่ในสภาพดีโดยเนื้อทองยังสดใสลวดลายชัดเจนคงเดิม
พบข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า วัดบึงแห่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สร้างขึ้นเนื่องจากพบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมคือ พระอุโบสถ พระประธาน ใบเสมา และองค์ประกอบอื่น ๆ เพราะมีจริยวัตรที่ถือปฏิบัติสืบกันมาแต่ครั้งโบราณ กระทั่งปัจจุบันว่า พระสงฆ์ สามเณร และผู้ที่อาศัยอยู่ในวัดบึง จะต้องเป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีสัมมาคารวะ มีระเบียบวินัย และรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเรียกว่า ผู้ดี จึงจะอาศัยอยู่ในวัด ได้นานจนได้รับสมญานามว่า "วัดบึงขุนนาง"
เรียบเรียงจาก
http://www.dhamathai.org/watthai/northeast/watbueng.php
http://www.nakhonratchasima.go.th
http://www.dhamaubon.org
﴾ ประวัติเจ้าอาวาสวัดบึง ﴿
“พระราชสีมาภรณ์” พระธรรมกถึกโคราช
หลวงพ่อนวล เขมสจฺจวาที
สถานะเดิม
นามเดิม นวล เขมสันเทียะ
บุตรของ นายแบบ – นางหมิ เขมสันเทียะ
เกิดเมื่อ วันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล
ตรงกับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑
ณ หมู่ที่ ๔ ตำบลสายออ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา
พระราชสีมาภรณ์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ของเมืองนครราชสีมาที่ครองเพศบรรพชิตอย่างสมถะ ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา รักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด นับเป็นปูชนียบุคคลที่สาธุชนให้ความเลื่อมใสศรัทธามาอย่างยาวนาน
ปัจจุบัน พระราชสีมาภรณ์ หรือหลวงพ่อนวล เขมสัจจวาที สิริอายุ ๗๐ ปี อุปสมบทมาแล้วกว่า ๔๙ พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบึง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา ประธานครูพระปริยัตินิเทศจังหวัดนครราชสีมา และผู้อำนวยการสำนักศาสนศึกษาวัดบึง
ครั้งวัยเยาว์หลวงพ่อนวล จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนประชาบาล บ้านโคก ตำบลสายออ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เริ่มต้นเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๖ ปี ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ณ วัดโคกสวาย อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพระมงคลสีหราชมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นพระอุปัชฌาย์
ระหว่างเป็นสามเณร หลวงพ่อนวลสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี – โท – เอก ตามลำดับ ณ สำนักศาสนศึกษาวัดบึง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กระทั่งเมื่อท่านอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ณ พัทธสีมาวัดบึง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพระมงคลสีหราชมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นพระอุปัชฌาย์
ภายหลังอุปสมบท ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านสามารถสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค ณ สำนักศาสนศึกษาวัดบึง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๑๙ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบึง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ. ๒๕๒๔ เจ้าคณะตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ. ๒๕๒๕ ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ประจำตำบลโพธิ์กลาง
พ.ศ. ๒๕๒๙ ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ. ๒๕๓๕ -ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบึง
ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๐๒ สมณศักดิ์เป็นพระมหานวล เขมสจฺจวาที
พ.ศ. ๒๕๓๕ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ
ในราชทินนามที่ พระกิตติรามมุนี
พ.ศ. ๒๕๔๖ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช
ในราชทินนามที่ พระราชสีมาภรณ์
ขณะที่หลวงพ่อนวลดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบึง ท่านได้พิจารณาเห็นว่า วัดบึงเป็นวัดเก่าแก่ เสนาสนะสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรม ท่านจึงดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ และทำการก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นใหม่หลายสิ่งทั้งภายในวัดและบริเวณรอบ ๆ วัดดังปรากฏเป็นรูปธรรม กระทั่งวัดบึงมีความเจริญงอกงามและสมบูรณ์ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษาเผยแพร่ และสาธารณูปการ
หลวงพ่อนวล หรือ พระราชสีมาภรณ์ เป็นพระธรรมกถึก วิทยากร ปาฐกถา บรรยายธรรม ทั้งเป็นนักอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภาพจิตรกรรม และอีกหลากหลาย อีกทั้งท่านยังสร้างคุณูปการมากมายให้แก่คณะสงฆ์และชาวเมืองโคราชนานัปการ
สำหรับคำสอนที่ท่านเน้นสั่งสอนญาติโยมทั่วไป คือ “ให้ทุกคนทำความดี ละเว้นความชั่ว ให้มีความอดทนอดกลั้น ให้มีความละอายต่อการกระทำชั่ว” สำหรับคำสอนที่ท่านเน้นหนักเป็นพิเศษ คือ ให้ทุกคนมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาและครูบาอาจารย์
ปัจจุบัน แม้วัยของท่านจะล่วงเลย ๗๐ ปีแล้ว ท่านก็ยังคงให้คำสั่งสอนอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนที่มาทำบุญฟังธรรมที่วัดมหาวนาราม ในทุกวันธัมมัสวนะ ก่อนทำวัตรสวดมนต์ และยังดำเนินการอบรมศีลธรรมแก่เยาวชน นักเรียนและประชาชน เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและทุกวันพระอย่างเป็นประจำอีกนัยหนึ่งด้วย
พระราชสีมาภรณ์ พระธรรมกถึกโคราช หรือหลวงพ่อนวล ท่านนับเป็นพระที่มีแต่ให้ จึงนับเป็นมงคลอย่างยิ่งสำหรับผู้คนที่ได้สัมผัส ใกล้ชิดและได้รับฟังคำสั่งสอนจากท่าน
จังหวัดนครราชสีมา (โคราช)
ตราประจำจังหวัด
สัญลักษณ์รูปอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีและซุ้มประตูชุมพล อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหล่อด้วยทองแดง รมดำ สูง ๑.๘๕ เมตร น้ำหนัก ๓๒๕ กิโลกรัม ที่ฐานอนุสาวรีย์มีอัฐิของท่านบรรจุไว้ภายใน
รูปท้าวสุรนารี หมายถึง คุณหญิงโม (ย่าโม) ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมา ผู้สร้างวีรกรรม อันกล้าหาญที่กอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพของอนุวงษ์แห่งเวียงจันทน์ไว้ได้ รูปปั้นท้าวสุรนารี อยู่ในท่ายืนผมทรงดอกกระทุ่ม แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
ซุ้มประตูชุมพล เป็นสัญลักษณ์ของเมืองโบราณแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นประตูเมืองเก่าทางด้านทิศตะวันตกของนครราชสีมา
คำขวัญประจำจังหวัด
เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน
สภาพทั่วไป
นครราชสีมา หรือโคราช อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ ๒๕๕ กิโลเมตร ทางรถไฟ ๒๖๔ กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย โดยประมาณ ๒๐,๔๙๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๑๒,๘๐๘,๗๒๘ ไร่ เท่ากับ ๑๒.๑๒% ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาค ตัวเมืองตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช โดยมีลำตะคองเป็นลำน้ำหล่อเลี้ยงบริเวณด้านเหนือของเมือง และเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำมูล ประชากรในจังหวัดมีมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ
ที่ตั้งและอาณาเขต
นครราชสีมาตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช ระหว่างเส้นรุ้ง ๑๔ – ๑๖ องศาเหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๑ – ๑๐๓ องศาตะวันออก ขนาดของพื้นที่ เป็น ๑ ของภาคและเป็นที่ ๒ ของประเทศ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับจังหวัดชัยภูมิ และขอนแก่น ทิศใต้ ติดกับจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดบุรีรัมย์ และขอนแก่น ทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสระบุรี และลพบุรี
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓๒ อำเภอ ๒๙๓ ตำบล ๓,๔๒๓ หมู่บ้าน การปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งออกเป็น ๑ เทศบาลนคร ๓ เทศบาลเมือง ๕๑ เทศบาลตำบล และ ๒๘๔ องค์การบริหารส่วนตำบล
บริเวณรอบเมืองเป็นที่ราบ ทุ่งนา สวนผลไม้ และ ที่เกษตรกรรม ปัจจุบันจากการขยายตัวของเมืองทำให้ค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพเป็นแหล่งการค้า อุตสาหกรรม และ ที่อยู่อาศัย ในบริเวณด้านใต้ของเมืองเป็น เขตทหาร คือ ค่ายสุรนารี ของกองทัพบก และ กองบิน ๑ ของกองทัพอากาศ
โดยตำแหน่งที่ตั้งทำให้เมืองเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบก ของภาคอีสาน โดยมีทางหลวง สายหลัก คือ ถนนมิตรภาพผ่าน และ เป็นชุมทางรถไฟของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ
ประวัติและความเป็นมา
นครราชสีมา หรือที่เรียกว่า “โคราช” เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคอีสาน เป็นเมืองใหญ่บนดินแดน ที่ราบสูงและเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยอดีต โดยอ้างอิงได้จากหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง
ชื่อเมืองนครราชสีมา ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. ๑๙๐๑ รวมทั้งประวัติในการก่อสร้างกำแพงเมืองก็ได้เริ่มต้นสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยโบราณเมืองนครราชสีมาเคยมีฐานะเป็นเมือง "เจ้าพระยามหานคร" เทียบเท่าเมืองนครศรีธรรมราชทางภาคใต้ และเมืองพิษณุโลก ทางภาคเหนือ ซึ่งมีอำนาจปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่ในอีสานหลายแห่ง และเป็นเมืองแห่งวีรกรรม อันกล้าหาญของวีรสตรีไทย คือ คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารี ผู้เป็นที่นับถือของชาวเมืองโคราชและประชาชนทั่วประเทศ
ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ ก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองเสมา (Sema) ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน มีความเชื่อกันว่านครราชสีมาเป็นที่ตั้งของรัฐศรีจนาศะ ต่อมาในสมัยขอมพระนครมีการสร้างเมืองโคราช (Angkor Raj) หรือ นครราช อยู่ในบริเวณเดียวกัน และมีเมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญของขอมในบริเวณนี้
เมืองนครราชสีมาตั้งอยู่เป็นบริเวณที่เป็นชายขอบระหว่างรัฐที่มีอำนาจ (รัฐกันชน) เมืองแห่งนี้ จึงมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างรัฐอยู่เสมอ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ปรากฏชื่อเมืองนครราชสีมา เป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในขอบขัณฑสีมา ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่าเมืองนครราชสีมาเป็นหัวเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ จึงโปรดให้ย้ายเมืองเสมา มาสร้างเมืองใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ ขนาดกว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ความยาว ๑,๗๐๐ เมตร มีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ ป้อมค่ายหอรบ โดยพระราชทานนามว่า เมืองนครราชสีมา ทั้งนี้ท่านทรงโปรดให้พระยายมราชเป็นเจ้าเมือง
ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ นครราชสีมา ได้กลายเป็นเมืองศูนย์ราชการที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางการศึกษา การสาธารณสุข การวิจัย การคมนาคม และการอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกองกำลังรบหลักของกองทัพบกและกองทัพอากาศในปัจจุบัน
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
อนุสรณ์แด่วีรกรรมอันกล้าหาญของวีรสตรีไทย ท้าวสุรนารี คุณหญิงโมหรือย่าโม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกติดปากโดยทั่วไป สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ตั้งอยู่กลางเมือง ชาวต่างถิ่นที่แวะมาเยือนและชาวเมืองโคราช นิยมมาสักการะและขอพรจากย่าโมอยู่เสมอ อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง ๑.๘๕ เมตร หนัก ๓๒๕ กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน โดยทุกวันที่ ๒๓ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน ของทุกปีจะมีการจัดงานระลึกถึงคุณความดีและจัดงาน เฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท่าน ซึ่งเกิดจากความพร้อมใจกันของประชาชน
สวนสัตว์นครราชสีมา (สวนสัตว์โคราช)
สวนสัตว์นครราชสีมาเป็นซาฟารีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันสวนสัตว์นครราชสีมา อยู่ในการดูแลของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สวนสัตว์แห่งนี้มีพื้นที่ ๕๔๕ ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๑ หมู่ ตำบลไชยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากตัวเมือง ๑๓ กิโลเมตร ภายในสวนสัตว์โคราช มีสัตว์ป่าที่หาชมยาก เช่น เสือ ยีราฟ สิงโต ช้าง ม้าลาย แรด เม่น นกนานาชนิด เช่น นกตะกรุม นกกระจอกเทศ นกฟลามิงโก
เขื่อนลำตะคอง
เขื่อนลำตะคอง ตั้งอยู่ตำบลลาดบัวขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖๒ กิโลเมตร เป็นเขื่อนดิน สร้างกั้นลำตะคองที่ช่องเขาเขื่อนลั่นและช่องเขาถ่านเสียดในปีพ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อนำน้ำเหนือเขื่อน มาใช้ประโยชน์ในด้านชลประทาน นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวบนสันเขื่อนเพื่อชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำซึ่งมีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงามเหมาะสำหรับพักผ่อนในยามแดดร่มลมตก เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐ – ๑๘.๐๐
ฟาร์มโชคชัย
ฟาร์มโชคชัย เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ริมถนนมิตรภาพ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ห่างจาก กรุงเทพมหานคร ๑๕๙ กิโลเมตร ดำเนินกิจการปศุสัตว์และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายในฟาร์มประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์รถเก่า สถานที่รีดนมโค สวนสัตว์ สถานฝึกสุนัข ขี่ม้า ขี่ม้าแคระ(สำหรับเด็ก) การแสดงโชว์ความสามารถของคาวบอย ด้านหน้าเป็นร้านอาหารสเต๊กโชคชัย
หมู่บ้านด่านเกวียน
หมู่บ้านด่านเกวียน อยู่ห่างจากตัวเมือง ๑๕ กิโลเมตร มีชื่อเสียงมากในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา อย่างสวยงาม มีทั้งการแสดงสินค้าเชิงสาธิต โดยใช้กรรมวิธีดั้งเดิมในการปั้นและใช้ดินดำสัมฤทธิ์ ที่มีเอกลักษณ์ของสีเป็นเครื่องปั้นแบบด่านเกวียนโดยเฉพาะ รวมถึงมีการให้ชมสิ่งเกี่ยวเนื่องกับเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เช่น ซุ้มประตูรูปแป้ เตาหลอมใจ เป็นต้น
แหล่งทอผ้าไหมปักธงชัย
ปักธงชัยเป็นแหล่งทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงอยู่ห่างจากนครราชสีมา ๓๒ กิโลเมตร มีโรงงานทอผ้าไหมจำนวนมากที่ผลิตผ้าไหมส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศบริเวณ กม.๑๐๗ ริมถนนมิตรภาพ มีศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมปักธงชัย ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการกระบวนการเลี้ยงไหม และผลิตผ้าไหม พร้อมทั้งมีร้านจำหน่ายผ้าไหมให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อหลายร้าน
แหล่งโบราณคดีบ้านธารปราสาท
ตั้งอยู่ที่บ้านธารปราสาท อ.โนนสูง เป็นแหล่งโบราณคดีที่เพิ่งขุดแต่งใหม่ นับเป็นแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง โดยทำเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง การขุดแต่งหลุมมี ๒ แห่ง แห่งละ ๓ หลุม ทำให้พบ โครงกระดูกมนุษย์ประมาณ ๖๐ โครง มีภาชนะดินเผาแบบเคลือบโคลนสีแดง รวมทั้งเครื่องประดับ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ๔ จังหวัด ๑๑ อำเภอ ได้แก่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย โดยได้รับสมญานามว่าเป็น "อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน"
ภายในอุทยานมีเนื้อที่ปกคลุม ๒,๑๖๘ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ป่าดงดิบชื้น มีพืชพรรณกว่า ๓,๐๐๐ ชนิด นกกว่า ๒๕๐ ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๖๗ ชนิด ซึ่งพบอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างทั่วๆ ไป
สถานที่ที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และมีชื่อเสียง คือ น้ำตกกว่า ๒๐ แห่ง เช่น น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวไทร น้ำตกเหวประทุน น้ำตกกองแก้ว และน้ำตกเหวนรก ทางอุทยานได้จัดทำเส้นทางเดินป่าสำหรับศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทาง สามารถขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ของอุทยาน หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้
อุทยานแห่งชาติทับลาน
อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีป่าลาน ซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก รวมถึงมีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำ ที่มีความสมบูรณ์มากสามารถจำแนกได้ ๔ ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
อุทยานประวัติศาสตร์พิมายตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล บนพื้นที่ ๑๑๕ ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร ลักษณะพิเศษของ ปราสาทหินพิมาย คือ สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทาง ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงในสมัยนั้นของขอม ซึ่งเข้ามาสู้เมืองพิมายทางทิศใต้
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เป็นพิพิธภัณฑ์อันดับ ๑ ของเอเชียที่มีขนาดใหญ่และมีฟอสซิลไม้หลากหลายชนิด ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์มีการขุดพบเศษไม้และท่อนไม้กลายเป็นหินตั้งแต่ระดับผิวดิน ถึงระดับความลึก ๘ เมตร มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ขนาดกรวดจนถึงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๕๐ เซนติเมตร และบางชิ้นมีความยาวมากกว่า ๑ เมตร มีสีสันหลากหลาย ทั้งในก้อนเดียวจนถึงต่างก้อนกัน มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ ๑ ถึง ๗๐ ล้านปี จังหวัดนครราชสีมาจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชีย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์นี้ไว้ให้เป็นมรดกให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา โดยจะสามารถได้รับความรู้เกี่ยวกับ ซากดึกดำบรรพ์ที่ก่อกำเนิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้ได้อย่างเพลิดเพลิน
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย ตั้งอยู่ระหว่างทางเข้าปราสาทหินพิมายทางด้านซ้ายมือ โบราณวัตถุที่จัดแสดงแบ่งออกเป็น ๒ สมัย คือ สมัย ก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องประดับที่ ทำจากสำริดและหิน และสมัยประวัติศาสตร์ ได้แก่ โบราณวัตถุที่เป็นส่วนประกอบ ของโบราณสถานสมัยขอม รวมทั้งใบเสมาต่างๆ ที่เป็นศิลปะทวาราวดี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุทธจินดา ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด มีศิลปวัตถุทั้งที่สมเด็จมหาวีรวงศ์รวบรวมไว้ โบราณวัตถุที่กรมศิลปากรได้สำรวจขุดพบในเขต จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งส่วนที่มีผู้บริจาค เช่น พระพุทธรูปศิลาสมัยขอม สมัยอยุธยา เครื่องเคลือบดินเผาขนาดต่าง ๆ พระพุทธรูปสำริด เครื่องใช้ สมัยโบราณภาพไม้แกะสลัก ซึ่งนำมาจากวัดโบราณ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
สินค้าพื้นเมือง
สินค้าพื้นเมืองของโคราชที่มีชื่อเสียงมากคือสินค้าหัตถกรรมได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาจากด่านเกวียน ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ปักธงชัย ส่วนสินค้าหัตถกรรมกลุ่มแม่บ้าน หาซื้อได้ที่ศูนย์จำหน่ายของดีเมืองโคราช ใกล้ศาลากลางจังหวัด สำหรับเครื่องปั้นดินเผาควรเลือกซื้อโดยตรงที่ด่านเกวียน โดยเดินทางจากตัวเมืองโคราชไปเพียง 15 กิโลเมตร ส่วนผ้าไหมนั้นมีแหล่งผลิตที่อำเภอปักธงชัย นอกจากนั้นยังมีร้านขายส่ง ซึ่งสามารถจะเข้าชมการทอผ้าไหมได้ด้วย
อาหารพื้นเมือง
ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองโคราชมีมากมายทั้ง แหนม ไส้กรอกโคราช กุนเชียง หมูยอ หมูหยอง หมูแผ่นซึ่งผลิตกันมากที่ตัวเมืองและที่อำเภอปากช่อง อีกทั้งยังมี ไก่ย่างท่าช้าง ไก่ย่างวัดป่าสาละวัน ไก่ย่างสืบศิริ ไก่ย่างวังฟ้า ส้มตำ (ตำส้ม) เป็ดย่างพิมาย หอยจ้อ ขนมจีนประโดก และผัดหมี่โคราช ซึ่งเป็นอาหารคู่เมืองโคราชมายาวนาน สำหรับผลไม้ที่ขึ้นชื่อในเมืองโคราช เช่น น้อยหน่ากลางดง แตงโมขามทะเลสอ ลิ้นจี่ ลำไย ฝรั่ง มะนาวด่านเกวียน เป็นต้น
เรียบเรียงจาก http://th.wikipedia.org
http://www.koratinfo.com
http://www.tat.or.th