วัดศาลาปูนวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่พบหลักฐานการก่อตั้งวัดและผู้สร้าง เดิมเป็นวัดราษฎร์และเคยเป็นวัดร้างมาแล้วเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ในปี พุทธศักราช ๒๓๑๐ สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยบริเวณวัดเป็นคลองมหานาค ซึ่งเป็นคลองยุทธศาสตร์ที่ขุดมาจากบริเวณภูเขาทองจรดแม่น้ำลพบุรีข้างวัดศาลาปูน โดยประวัติในพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าหงสาวดี ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหานาควัดภูเขาทองสึกมารับอาสาตั้งค่ายกันข้าศึกตั้งแต่วัดภูเขาทองลงมาจรดวัดป่าพลูมาทางใต้ถึงวัดศาลาปูน แล้วเลี้ยวมาทางตะวันตกย่านวัดขุนยอนและหน้าวัดป่าพลูออกแม่น้ำใหญ่ที่เหนือหัวแหลม จึงระบุได้ว่าวัดศาลาปูนมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ปูชนียะวัตถุ
- พระอุโบสถ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรูปปั้นปิดทองปางมารวิชัย เป็นศิลปกรรมแบบสุโขทัย พร้อมทั้งมีลายจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาภายนอกเป็นทรงไทยแบบอยุธยา คือมีพาไลทั้งด้านหน้าและหลัง หลังคาซ้อนชั้น หน้าบันเป็นปูนปั้นรูปเทพพนม ซุ้มประตู หน้าต่างเป็นปูนปั้น บานหน้าต่างเป็นงานลงรักปิดทองลายพรรณพฤกษา ส่วนบานประตูมีทั้งงานไม้แกะสลักปิดทองคำเปลว และงานลงรักปิดทองลายทวารบาล
- หอไตรปิฎก มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์มีคุณค่าทางศิลปกรรมสมัยอยุธยา หน้าบันประดับปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑเหยียบนาค เป็นอาคารที่เก็บพระไตรปิฎก พระคัมภีร์และใบลาน ซึ่งถือเป็นหนังสือสำคัญของพระพุทธศาสนา
- หลวงพ่อแขนลาย พระพุทธรูปนั่งขนาดหน้าตักกว้าง ประมาณ ๒๙ นิ้ว ลักษณะคล้ายพระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ซึ่งแขนด้านหนึ่งขององค์พระมีการลงอักขระยันต์ไว้อย่างชัดเจน เชื่อกันว่าเป็นรูปเคารพของพระบรมไตรโลกนาถและพระศรีอารย์ เป็นที่เล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และการบนบานศาลกล่าวที่ประสบความสำเร็จ