วัดคงคารามวรวิหาร จ.เพชรบุรี (อาทิตย์ที่ ๖ พ.ย.๒๕๕๔)

พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดคงคารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

 

 


 

วัดคงคารามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิด “วรวิหาร”
ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอารามหลวง
พระอารามแรกขอเมืองเพชรบุรี ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นที่สถิตของพระสังฆราชาเมืองเพชรบุรี

ส่วนการก่อสร้างวัด ไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่าสร้างมาในยุคใด สมัยใด แต่เป็นวัดโบราณ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยของพระองค์
แต่ไม่ระบุรายละเอียดแน่ชัดว่าเมื่อใด แต่อยู่ในระหว่าง ปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔

วัดคงคารามวรวิหาร เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ปีพุทธศักราช ๒๕๓๖
วัดคงคารามวรวิหาร เป็นวัดพัฒนาดีเด่น ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗


ประวัติความเป็นมา
วัดคงคารามวรวิหาร หรือที่ชาวเมืองครั้งก่อนเรียกสั้นๆ ว่า “วัดคงคา” หรือ “วัดคงคาราม” เริ่มต้นเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้มีการสร้างทางรถไฟ จากกรุงเทพมหานครมาถึงจังหวัดเพชรบุรีเป็นแห่งสุดท้าย เมื่อพ.ศ.๒๔๔๖ ต่อจากนั้นไม่นานจึงโปรดฯ ให้ตัดถนนราชดำเนิน จากสถานีรถไฟผ่านทุ่งนาตรงไปยังท้ายวัดสิงห์ ซึ่งมีกำหนดเป็นเขตพระราชฐานต่อไป
วัดคงคารามวรวิหาร ในช่วงดังกล่าวได้รับการยอมรับให้เป็นสถานศึกษาชั้นนำของเมืองเพชรบุรี พื้นที่ด้านหน้าวัดทางทิศตะวันออกถูกจัดเป็นสนามฟุตบอล ด้านริมกำแพงวัดทางทิศเหนือริมคูคลองวัดเป็นอาคารเรียนตลอดแนว เสนาสนะและถาวรวัตถุของวัด ล้วนเป็นของเก่าที่มีการสร้างมานานนับตั้งแต่สมัยคุณพ่อเพ็ชร (พระครูญาณวิสุทธิ) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างพระอุโบสถใหม่แทนของเดิมดังที่เห็นในปัจจุบัน และยังได้ซ่อมบำรุงการเปรียญ หอพระไตรปิฎก และพระมณฑป ด้วย
ถึงสมัยพระครูญาณวิสุทธิ (เสน่ห์) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งปัจจุบันคือ พระวิสุทธิวรกิจ สิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ หอพระไตรปิฎก พระมณฑปและการเปรียญ ท่านได้พัฒนาและปรับปรุงทุกแห่งขึ้นใหม่ให้สง่างาม แข็งแรง เป็นอาคาร ๒ ชั้นทั้งหมดที่สามารถใช้ประโยชน์ทั้ง ๒ ชั้น ได้อย่างอเนกประสงค์ทั้งฝ่ายวัดและโรงเรียน ได้ปรับปรุงกุฏิทั้งหมู่ ๒๒ หลัง จนแล้วเสร็จในปีเดียว ดุจกุฏิที่สร้างขึ้นใหม่ที่สวยงามในวงเงินกว่า ๑๖ ล้านบาท เป็นกุฏิใต้ถุนสูงที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างอเนกประสงค์ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง
พร้อมนี้ได้สร้างอาคารคอนกรีตทรงไทยขึ้นใหม่หลังหนึ่ง ที่สามารถใช้ชั้นบนเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม ชั้นล่างเป็นห้องโถงอเนกประสงค์ มีเวทีและอาสนะสงฆ์ เป็นอาคารที่วิจิตรด้วยผลงานการออกแบบด้านสถาปัตย์ และศิลปกรรมหลายแขนงอย่างเลิศหรูและงดงามยิ่ง สิ้นงบประมาณเกือบ 20 ล้านบาท ตลอดจนมีอาคารทรงไทย ๒ ชั้น โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ระหว่างอาคารเรียนกับพระมณฑปคุณพ่อฉุย ใช้นามอาคารว่า “หอเกียรติยศคุณปู่ฉุย” นับเป็นอาคารเกียรติยศที่ส่งเสริมเกียรติคุณเกียรติประวัติพระสุวรรณมุนี (ฉุย) อดีตเจ้าอาวาสและผู้ก่อตั้งสถานศึกษาเยาวชนของที่นี่ขึ้นไว้เป็นปฐม
ในสมัยพระวิสุทธิวรกิจ ยังมีผลงานด้านสาธารณูปการอีกมาก เช่น สร้างศาลารายหลายหลัง ซุ้มประตู และกำแพงรอบวัด พร้อมมีคุณูปการอย่างสูงต่อสถานศึกษาที่วัดคงคารามนี้ โดยตลอดและต่อเนื่องโดยถือว่าโรงเรียนคือส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวัดจึงมีส่วนสร้างเสริมทำนุบำรุง จากมุมมองทางด้านถนนราชดำเนินจะสามารถมองเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมทั้งภูมิทัศน์และภูมิสถาปัตย์ของวัดคงคารามวรวิหารที่งดงามและอลังการยิ่ง เป็นผลงานศิลป์และประติมากรรมชั้นยอดเยี่ยมมาตั้งไว้ เรียงลำดับเป็นยาวตลอดความยาวของบริเวณวัด คือ หมู่กุฏิสงฆ์ การเปรียญ หอระฆัง พระอุโบสถ อาคารปริยัติธรรม และที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังคือ หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ พระมณฑป หอเกียรติยศคุณปู่ฉุย พร้อมหมู่อาคารเรียน เสมือนเป็นฉากหลัง ล้วนตั้งอยู่เต็มพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด


ประวัติศาสตร์ศิลาจารึก

๑. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดคงคารามวรวิหาร ระหว่าง พ.ศ.๒๓๖๗ ถึง พ.ศ.๒๓๙๔
๒. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เยี่ยมวัดคงคารามวรวิหาร เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๕
๓. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ ทรงยกฉัตรพระประธาน ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเศียรทรงลงพระนามาภิไธยในพระอุโบสถ ทรงปลูกต้นเสลาหน้าพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓
๔. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โรงเรียนพระปริยัติธรรม ทรงเททองหล่อพระสมเด็จพระพุทธชินราช ทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ที่หน้ามณฑป เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทรงลงพระนามาภิไธยในพระอุโบสถ เสด็จพระราชดำเนิน ชมศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนและวัดคงคารามวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๔
๕. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกย่องวัดคงคารามวรวิหาร เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกย่องวัดคงคารามวรวิหาร เป็นวัดพัฒนาดีเด่น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
๖. โรงเรียนคงคาราม จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่บริเวณวัดคงคารามวรวิหาร ในความอุปการะ อุปถัมภ์ของพระสงฆ์และกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ในอดีต มีพระสุวรรณมุนี นรสีห์ธรรมทายาทสังฆปาโมกข์ (ฉุย สุขภิกฺขุ) เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี วัดคงคารามวรวิหาร อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้ริเริ่มขึ้น เมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๔


ประวัติเจ้าอาวาสวัดคงคารามวรวิหาร
“พระวิสุทธิวรกิจ” (เสน่ห์)

ตำแหน่ง
ชื่อ พระวิสุทธิวรกิจ
ฉายา ธมฺมรํสี
อายุ ๕๙ พรรษา ๓๙
วิทยฐานะ น.ธ.เอก ม.ศ.๕ วัดคงคารามวรวิหาร
ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดคงคารามวรวิหาร

สถานเดิม
ชื่อ-สกุล เสน่ห์ สังข์สุข
เกิดวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕
โยมบิดาชื่อ นายถม สังข์สุข
โยมมารดาชื่อ นางทองมี สังข์สุข

บรรพชา
วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ณ วัดลาดโพธิ์ ตำบลสำมะโรง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
- พระอุปัชฌาย์ พระเทพสุวรรณมุนี (ผัน) เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร
ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

อุปสมบท
วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๖ ณ วัดสำมะโรง ตำบลสำมะโรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
- พระอุปัชฌาย์ พระครูญาณวิสุทธิ (เพ็ชร) อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาราม
- พระกรรมวาจาจารย์ พระครูวัชรโพธิคุณ (หริ่ง) วัดลาดโพธิ์ ตำบลสำมะโรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
- พระอนุสาวนาจารย์ พระครูจิรวัชราภรณ์ (บุญยืน) วัดสำมะโรง ตำบลสำมะโรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

วิทยฐานะ
พ.ศ.๒๕๒๒ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ จากโรงเรียนปริยัติรังสรรค์ ตำบลคลองกระแชง
อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ.๒๕๑๓ สอบ น.ธ.เอก ได้ในสนามหลวงสำนักเรียนวัดลาดโพธิ์ ตำบลสำมะโรง อำเภอเมือง
จังหวัดเพชรบุรี


สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นพระใบฎีกา ฐานานุศักดิ์ของพระครูญาณวิสุทธิ (เพ็ชร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคารามวรวิหาร
พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก
มีทินนามว่า พระครูญาณวิสุทธิ (เสน่ห์ ธมฺมรํสี)
พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก
ในทินนามเดิมว่า พระครูญาณวิสุทธิ (เสน่ห์ ธมฺมรํสี)
พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นพระราชาคณะ เจ้าอาวาสพระอารามหลวง มีนามว่า พระวิสุทธิวรกิจ (เสน่ห์)

งานปกครอง
พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดคงคารามวรวิหาร
พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดคงคารามวรวิหาร
พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นเจ้าอาวาส วัดคงคารามวรวิหาร
พ.ศ.๒๕๒๙ - ปัจจุบัน เป็นเจ้าสำนักเรียน วัดคงคารามวรวิหาร
พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นพระอุปัชฌาย์ วัดคงคารามวรวิหาร

งานการศึกษา
พ.ศ.๒๕๑๘ - เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
- เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าอาวาสในด้านการสอบธรรมสนามหลวง เปิดทำการสอบธรรม
แผนกนักธรรมอยู่ที่วัดคงคารามวรวิหาร มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
พ.ศ.๒๕๒๙ - เป็นผู้บริหาร อุปการะ อุปถัมภ์ จัดอาหารคาว-หวาน ถวายพระสงฆ์-สามเณร และ
ธรรมศึกษาทั้ง ๔ วัน โดยความบริบูรณ์เรียบร้อย ทุกประการ
พ.ศ.๒๕๓๐ - ให้ความร่วมมือกับเจ้าคณะอำเภอเมืองเพชรบุรี เช่น การจัดสถานที่สอบธรรมที่
โรงเรียนคงคาราม และเป็นกรรมการอำนวยการสอบธรรมสนามหลวงทุกปี
พ.ศ.๒๕๓๒ - เป็นผู้บริหารการศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่วัดคงคารามวรวิหาร
- เป็นผู้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดเป็นประจำตลอดมา โดยใช้หลักของ
การคณะสงฆ์ และข้อมูลความสำคัญทางบ้านเมืองเป็นหลักใหญ่ด้วย โดยถือ
คุณธรรม ความสามัคคีของหมู่คณะเป้นอย่างดีตลอดมา


ประวัติอดีตเจ้าอาวาสวัดคงคารามวรวิหาร องค์สำคัญ
พระสุวรรณมุนีนรสีหธรรมทายาทสังฆปาโมกข์ (ฉุย สุขภิกฺขุ)
ผู้วางรากฐานและสร้างความเจริญทางการศึกษาให้กับเมืองเพชร
ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี

ประวัติโดยย่อของท่าน
นามเดิม ฉุย
สกุล ยังอยู่ดี
บิดา-มารดา นายนง-นางนก
ชาติภูมิ หมู่บ้านสะพานช้าง ตำบลต้นมะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
วัน เดือน ปี เกิด เสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๐๑
อุปสมบท พ.ศ.๒๔๒๑ ที่วัดคงคารามวรวิหาร
พระอุปัชฌาย์ พระพิศาลสมณกิจ (สิน)
มรณภาพ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖
อายุ ๖๕ ปี พรรษา ๔๕

สมัยเมื่อพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระสุวรรณมุนี (ฉุย) ท่านยังมีชนมชีพอยู่นั้น บุคคลทั่วไปเรียกท่านว่า “คุณพ่อฉุย” ชื่อเสียงเกียรติคุณที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และกว้างขวาง มีอยู่ ๒ อย่างคือ เหรียญรูปเหมือนของท่าน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๖๕ กับผลงานการจัดการศึกษาทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม
ตำแหน่งสุดท้ายทางการงานคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบุรี คือ เจ้าอาวาสวัดคงคาราม และเจ้าคณะเมืองเพชรบุรี หรือเจ้าคณะจังหวัดในปัจจุบัน
การศึกษาทางฝ่ายฆราวาสนั้น ท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับสอนลูกศิษย์วัด ลูกชาวบ้านขึ้นก่อน และต่อมาจึงเป็นโรงเรียนรัฐบาล (ชาย) ขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองเพชรบุรี
การศึกษาทางฝ่ายสงฆ์ ท่านได้เปิดสอนและตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเพชรบุรี และขยายการเรียนการสอนให้กว้างขวางไปยังวัดต่างๆ จากความดำริของท่าน
สมณศักดิ์ของท่าน คือ พระสุวรรณมุนีนรสีหธรรมทายาทสังฆปาโมกข์ ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖
กาลเวลาผ่านมาบัดนี้ ครบ ๘๘ ปี
การศึกษาหนังสือไทยที่เมืองเพชรบุรีเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น มีพวกฝรั่งมิชชันนารีคณะหนึ่งมาตั้งรกรากสอนศาสนา (ชื่อคณะ เพรสไปทีเรียน (presbyterian) เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๐-๒๓๙๕ เป็นหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน นิกายโปแตสแตนต์)
คณะมิชชันนารีได้ปลูกตึก สร้างเป็นโรงเรียนสอนหนังสือขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ ที่ข้างวัดน้อย ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนสตรีฝึกทำการ” นับว่าเมืองเพชรมีโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก รับลูกหลานชาวบ้านส่วนมากเป็นเด็กหญิงเข้าเรียน วิชาที่เรียนมีอ่าน คัด เขียน มีการสอนภาษาอังกฤษเบื้องต้น ขับร้องเพลงถวายพระเจ้า และมีการฝึกงานฝีมือด้วย เช่น เย็บปักถักร้อย
ส่วนการจัดการศึกษาตามวัดต่างๆ นั้น เริ่มต้นที่วัดพลับพลาชัยก่อน ในเวลาต่อมาจึงค่อยๆ ขยายตัวต่อไปอีกตามกาลเวลาที่ผ่านไป พอลำดับได้ ดังนี้
- วัดพลับพลาชัย คุณพ่อริด
- วัดคงคารามวรวิหาร คุณพ่อฉุย ทั้ง ๒ แห่งนี้ต่อมากลายเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี
- วัดโพธาราม พระอาจารย์พร ต่อมากลายเป็นโรงเรียนบุญเลี่ยมวิทยา (เลิกกิจการไปแล้วขณะนี้)
- วัดมหาธาตุ คุณพ่อชิต (พระสุวรรณมุนี-ชิต) ต่อมากลายเป็นโรงเรียนสุวรรณรังสฤษฏ์วิทยาลัย
- วัดยาง คุณพ่ออินทร์ (พระเทพวงศาจารย์-อินทร์) ต่อมากลายเป็นโรงเรียนการช่างชาย หรือ
วิทยาลัยเทคนิคฯ ในปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาของเมืองเพชรเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้นก็ราวปลายๆ สมัยรัชกาลที่ ๕ เพราะมี
การตั้งกระทรวงศึกษาธิการขึ้น มีการเปิดโรงเรียนประถมและมัธยมขึ้นหลายแห่งในพระนคร โรงเรียนประถมแห่งแรกตั้งขึ้นที่วัดมหรรณพารามเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗-๒๔๓๕ มีประกาศตั้งกระทรวงธรรมการโดยยกฐานะกรมศึกษาธิการซึ้งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ ถึงรัชกาลที่ ๖ ตราพระราชบัญญัติการประถมศึกษาขึ้นแล้ว (พ.ศ.๒๔๖๔ บังคับเด็กอายุ ๗-๑๔ ปี ให้เรียนหนังสือทุกคน) การศึกษาก็แพร่หลายไปตามวัดต่างๆ เพราะมีการตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัดทั่วไป อย่างน้อยตำบลละ ๑ วัด
คุณพ่อฉุยท่านเริ่มสอนหนังสือศิษย์วัดจากจำนวนสิบแล้วเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนร้อย โดยใช้หอฉัน หอสวดมนต์ ทั้งนี้คุณพ่อฉุยท่านลงมือสอนเอง แต่เมื่อมีนักเรียนมากก็ต้องจ้างครูฆราวาสมาช่วยสอน ท่านมีลูกศิษย์นับร้อย ด้วยความโอบเอื้ออาทร ท่านจัดการและดูแลอย่างดี ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า เครื่องเรียน
เรื่องอาคารเรียนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการขยายตัวของนักเรียน ท่านจึงได้เพียรพยายามสร้างอาคารเรียนขึ้นหลังหนึ่งขึ้นก่อน โดยเก็บไม้ที่ได้จากงานเมรุท่านเจ้าคุณพระพิศาลสมณกิจ (สิน) ซึ่งมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ มาสร้างขึ้น อาคารหลังนี้ได้ชื่อว่า “เรือนบำรุงไทย” นับเป็นอาคารหลังแรก และมีผู้เรียกโรงเรียนของท่านในครั้งนั้นว่า “โรงเรียนบำรุงไทย” แต่ส่วนใหญ่เรียกว่า “โรงเรียนวัดคงคาราม”
คุณพ่อฉุยท่านตรากตรำทำงานเพื่อผู้อื่นมามาก เกียรติคุณชื่อเสียงของคุณพ่อฉุยเป็นที่ขจรขจายไปมาก ด้วยความเคารพ เลื่อมใสศรัทธาและนับถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่รูปเหรียญรุ่น พ.ศ.๒๔๖๕ ของท่านนั้นประชาชนมีความต้องการสูง ปัจจุบันนี้ยังแลกเปลี่ยนเป็นเงินกันเป็นเรือนแสนบาททีเดียว

คัดลอกข้อมูลจาก : บุญมี พิบูลย์สมบัติ


สิ่งปลูกสร้างและอาคารสถานที่ในอาณาบริเวณวัดคงคารามวรวิหาร

• พระพุทธประธานในพระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงาม องค์พระเป็นปูนปั้น หน้าตัก ๔ ศอก ลงรักปิดทอง ซึ่งคงจะได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระอุโบสถหลังเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยอดพระเศียร พร้อมทั้งทรงเจิมฉัตรกั้นอยู่เหนือเศียรพระพุทธประธาน เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓
สำหรับฉัตรดังกล่าวเป้นของมีค่ามาแต่เดิม สันนิษฐานว่า คงเป็นของหลวงซึ่งน่าจะได้รับพระราชทานมา แต่ครั้งที่วัดนี้ได้รับการสถาปนายกขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๓ บางท่านกล่าวว่า น่าจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดผ้าพระกฐิน เมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๒ ฉัตรนี้มีโครงและแกนประกอบด้วยไม้สัก ก้านฉัตรเป็นไม้ไผ่ มีผ้าขาวดาด ปิดลายทอง ต่อมาได้เปลี่ยนซ่อมบางสิ่งเฉพาะที่ชำรุด เช่น ซี่ก้านฉัตร ผ้าและลายทองของเก่าที่ชำรุดมาก ส่วนอื่นคงของเดิมไว้ทุกประการ

• พระอุโบสถ
สร้างขึ้นใหม่เมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๐ ในตำแหน่งพระอุโบสถเดิม เป็นพระอุโบสถที่มีรูปทรงสวยงาม เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์พร้อมภายในระยะเวลาอันสั้น พระอุโบสถหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้า เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓ ก่อนมีการจัดงานผูกพัทธสีมา
ลักษณะของพระอุโบสถเป้นทรงไทย หลังคาซ้อน ๒ ชั้น มีมุขยื่นหน้า-หลัง รากฐานโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ติดตั้งคันทวย พร้อมสาหร่าย รวงผึ้ง หน้าบันมีลายกนก ปิดทองประดับกระจกสี ทุกหน้าต่าง-บานประตูมีซุ้มรูปทรงสมส่วนสวยงาม ประดับลายปูนปั้นอย่างวิจิตรงดงาม ส่วนไม้บานหน้าต่าง-ประตูทุกบาน มีลายจำหลักปิดทองประดับกระจกสีอย่างประณีตสวยงามเช่นกัน รอบลานพรอุโบสถปูหินแกรนิต มีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเป็นขอบเขตภายนอกอีกชั้นหนึ่ง

• หอสวดมนต์
เป็นอาคารทรงไทย ๑ หลัง จำนวน ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๙.๓๐ เมตร ยาว ๑๓.๔๐ เมตร ชั้นบนมีฝารอบเป็นฝาปะกนลูกฟักไม้สำโรง ๓ ห้อง มีระเบียงรอบ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ติดตั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ลายประกอบเป็นลายแกะสลักทั้ง ๒ ด้าน เสาไม้แก่น พื้นไม้เนื้อแข็ง สูง ๖ วาเศษ สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๘
ชั้นล่างด้านหน้าปล่อยโล่ง ทางด้านทิศตะวันตกภายในกั้นห้อง ประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมโต๊ะหมู่บูชา ทั้งหมดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่พร้อมหมู่กุฏิสงฆ์สมัยเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
• พระเจดีย์หน้าพระอุโบสถ
มีจำนวน ๔ องค์ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ๑๒ ก่ออิฐถือปูน ยาวด้านละ ๒.๕ เมตร ยอดเป็นบัวกลุ่มทุกองค์ เป็นของทำขึ้นใหม่แทนพระเจดีย์ของเดิมที่เคยมีอยู่แล้ว ๕ องค์ ล้วนดูสวยงามกลมกลืน เป็นระเบียบด้วยรูปทรงและผลงานประณีตของงานก่อสร้างและปูนปั้น มีส่วนเป็นองค์ประกอบเพิ่มความสง่างามด้านหน้าพระอุโบสถเป็นอย่างมาก เพราะแต่เดิมประตูทางเข้าภายในลานพระอุโบสถทางทิศตะวันออกไม่มี

• พระมณฑป
เป็นอาคารทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้ มียอด หลังคา ๕ ลด มุงด้วยกระเบื้องสีเคลือบ ตรงมุมแต่ละมุมติดหัวนาค ตัวพระมณฑป ร่วมในกว้าง ด้านละ ๔ เมตร ทำฐานทักษิณและกำแพงลูกฟักล้อมกรอบ กว้าง ๑.๒ เมตร ทำหลังคามีเสารับเป็นมุขยื่นออกไป ๔ ทิศ ความยาวแต่ละด้าน ๓ เมตร มีบันไดขึ้นลงทั้งสี่ด้าน สู่ประตู พระมณฑปทั้ง ๔ ทิศเหมือนกัน
หลังคาของมุขแต่ละด้าน ติดช่อฟ้า ใบระกา มุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันมีลายจำหลัก ประกอบสัญลักษณ์รูปสมณบริขาร และพัดยศตามลำดับฐานานุศักดิ์ที่ได้รับก่อน-หลัง ทางทิศตะวันออกก่อฐานปูนล้อมต้นศรีมหาโพธิ์ ด้านหน้าทำเป็นอาสนบัลลังก์ ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูป
พระมณฑปนี้ สมัยพระครูญาณวิสุทธิ (เพ็ชร) เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อพระสุวรรณมุนี (ฉุย) เปิดให้ประชาชนเข้านมัสการได้ทุกวัน ในการบูรณะตัวพระมณฑปตั้งอยู่บนพื้นฐานเดิมที่ต่ำกว่าระดับพื้นดินจึงปรับถมขึ้นมาราว ๑ เมตร

• ซุ้มประตูกำแพงวัด
มีรวมทั้งหมดเป็นจำนวน ๓ ซุ้ม ทุกแห่งเป็นซุ้มมีโครงเสาและส่วนบนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบลายปูนปั้นลักษณะทรงไทยประยุกต์ เน้นฝีมืองานปูนปั้น ปั้นรูปวรรณคดีประกอบลายกนกโดยช่างเมืองเพชร

• อาคาร ๑๐๐ ปี หอเกียรติยศพระสุวรรณมุนี (ฉุย)
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย ตั้งอยู่ระหว่างหอพระไตรปิฎกกับอาคารเรียน ๕ ชั้น ของโรงเรียนคงคารามวรวิหาร ทั้งนี้ นอกจากเป็นเกียรติยศอย่างสูง แด่พระสุวรรณมุนี (ฉุย) อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคารามและผู้ก่อตั้งโรงเรียนประถม-มัธยมขึ้นที่นี่แล้ว พระคุณท่านรูปนี้ยังเป็นผู้มีคุณูปการทางด้านการศึกษากับเมืองเพชรบุรีเป็นอเนกประการ อาคารดังกล่าวยังสามารถเอื้อประโยชน์ ใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องพยาบาลของโรงเรียน
อาคารหลังนี้มีขนาดย่อม สิ้นค่าก่อสร้าง ๓.๙๕ ล้านบาท เป็นอาคารหลังหนึ่งที่ทางวัดคงคาราม โดยความดำริของท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ร่วมกับทางโรงเรียนคงคาราม โดยมีเจตนาตรงกัน อนุสรณ์สถานแห่งนี้จึงบังเกิดขึ้น

โรงเรียนคงคาราม

โรงเรียนคงคารามเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ (สหศึกษา)
เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย

ภายในอาณาเขตของวัด มีกำแพงวัดเป็นขอบเขต วัดและโรงเรียนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในเนื้อที่ดินประมาณ ๑๕ ไร่ ๓ งาน แม้จะดูคับแคบไปบ้าง ทางวัดโดยเฉพาะท่านเจ้าอาวาสทุกรูป นับแต่พระสุวรรณมุนี (ฉุย) เป็นลำดับมาก็ได้เอื้อเฟื้อ สนับสนุน และอนุเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อความเจริญวัฒนาของการศึกษาของกุลบุตร กุลธิดาเป็นสำคัญเป็นลำดับต่อมา ยินดีขยายพื้นที่วัดให้โรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ เช่น ทำเป็นสนามฟุตบอล และใช้เป็นที่ตั้งอาคารต่างๆ ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา

โรงเรียนคงคารามวรวิหารได้กำเนิดมาจากพระภิกษุในวัดที่เปิดสอนอักขรวิธีให้ศิษย์สามเณรและเด็กที่อยู่ใกล้วัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ มีหลักฐานว่า พระสุวรรณมุนี นรสีห์ ธรรมทายาทสังฆปาโมกข์ (หลวงปู่ฉุย) ได้ทุ่มเทกำลังสั่งสอนหนังสือไทยแก่ศิษย์วัดและลูกหลานของผู้ที่มาฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานกับท่านเป็นจำนวนมาก จนต้องหาครูมาช่วยสอนจัดตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น จนเจริญขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ธรรมการมณฑลได้ประกาศรับโรงเรียนไว้ในอุปถัมภ์ของรัฐบาล ตั้งเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี และโรงเรียนเพชรบุรี

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งในพื้นที่ใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี คณะศิษย์เก่าคงคารามจึงดำเนินการจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ในพื้นที่เดิมชื่อ โรงเรียนคงคาราม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ สมัยที่นายผล แจ่มแจ้ง เป็นผู้บริหารโรงเรียน ได้ปรึกษากับคณะศิษย์เก่า และพระครูญาณวิสุทธิ (เพ็ชร) อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคารามวรวิหาร เห็นสมควรมอบกิจการโรงเรียนให้กรมสามัญศึกษา สังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เป็นต้นมา

คติพจน์
สุวิชาโน ภวํ โหติ : ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ

คำขวัญ
รู้เวลา รู้หน้าที่ มีวินัย น้ำใจงาม

วิสัยทัศน์
โรงเรียนคงคารามเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนและวัดคงคารามวรวิหาร

จัดแสดงอยู่ในอาคารเรียนเดิมของอาคารลิบสุทธิวนิชรังสรรค์ และเรือนสินธุบำรุง ซึ่งเป็นอาคารเรือนไม้หลังเก่า ๒ ชั้น จัดเป็นห้องแสดง ๖ ห้อง โดยภายในศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้จัดแสดงวัตถุโบราณอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี จัดแยกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ดังนี้

• ชั้นล่างมี ๓ ห้อง แบ่งจัดแสดงเป็นห้องแสดงโอ่ง อ่าง กระถาง ชนิดและประเภทแบบต่างๆ ห้องชีวิตไทย จำลองรูปแบบของบ้านไทย ห้องครัว ห้องนอน ฝาทรงไทยแบบต่างๆ พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ของคนไทยยุคก่อนๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทย อีกห้องหนึ่งเป็นห้องหนังสือ เก็บรักษาใบลาน สมุดข่อย หนังสือเก่าต่างๆ เช่น นิยาย หนังสือธรรม แบบเรียนในสมัยรัชกาลที่ ๗ นิตยสารต่างๆ หนังสือพิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๘ บัตรรูปพรรณโค โปสเตอร์หาเสียงเลือกผู้แทนราษฎรของเพชรบุรี และสิ่งพิมพ์อื่นๆ อีกมากมาย
• ชั้นบนของศูนย์ มี ๓ ห้อง ห้องที่หนึ่งใช้เรียนดนตรีไทยของนักเรียน ห้องที่สองเป็นห้องพระเก็บรักษาพระพุทธรูป ตู้พระไตรปิฎก และเงินตราของไทยและต่างประเทศ ห้องที่สารทเป็นห้องเครื่องปั้นดินเผา ประกอบด้วย ถ้วย ชาม จาน หม้อดิน ชนิดและขนาดต่างๆ

ศูนย์วัฒนธรรมฯ ดำเนินงานและบริการแก่นักเรียนและประชาชนผู้สนใจเรื่อยมา ได้รับความสนใจและสนับสนุนมอบสิ่งของ บริจาคเงินสมทบทุนกองทุนศูนย์ฯ มาด้วยดีตลอด เครื่องมือทำนา เกวียน ไถ ระหัดวิดน้ำ สีฝัด เครื่องมือจับสัตว์ต่างๆ เครื่องจักสาน งานแกะสลักไม้ ปูนปั้น ฯลฯ หากไม่มีที่เก็บและจัดแสดงก็ต้องตากแดดตากฝน หรือไว้ห้องเก็บของนักการภารโรง ความข้อนี้หลวงพ่อทราบดีและคิดหาทางแก้ไขตลอดเวลา

กิจการของศูนย์วัฒนธรรมฯ คงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ท่านหลวงพ่อกรุณาแนะนำให้ศูนย์แห่งนี้เปิดบริการให้ผู้สนใจทั่วไปได้มาศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา จัดเจ้าหน้าที่เวรยามคอยดูแลจัดงานแสดงนิทรรศการ ตามโอกาสและวาระที่เหมาะสม เช่น วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ พระวิสุทธิวรกิจ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชราชกุมารี เสด็จวัดคงคารามวรวิหาร เพื่อยกช่อฟ้าโรงเรียนปริยัติธรรม และศาลาอเนกประสงค์ ๒ ชั้น พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชม ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนวัดคงคารามแห่งนี้ ยังความปลื้มปีติแก่ชาวเพชรบุรี เป็นอย่างยิ่ง



จังหวัดเพชรบุรี

• เขาวัง หมายถึง เขาที่ตั้งของพระนครคีรี ซึ่ง รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง และพระเจดีย์พระธาตุจอมเพชร
นับเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง
• ผืนนา หมายถึง เมืองเกษตรกรรมและความอุดมสมบูรณ์
• ต้นตาลโตนด หมายถึง ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำของจังหวัดเพชรบุรี

คำขวัญประจำจังหวัด
เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม

ที่ตั้ง ประวัติและความเป็นมา
จังหวัดเพชรบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองด่านสำคัญระหว่างภาคกลางและภาคใต้ มีชื่อเสียงในฐานะเป็นแหล่งผลิตน้ำตาล เนื่องจากมีต้นตาลหนาแน่นและยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ จังหวัดเพชรบุรีมีเนื้อที่ประมาณ ๖,๒๒๕,๑๓๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๘๙๐,๗๑๑ ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๓๖ ของประเทศไทย

เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า ๒,๐๐๐ ปี นับตั้งแต่สมัยทวารวดี เดิมเป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา มีชื่อที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกต่างๆ กัน เช่น ชาวฮอลันดาเรียกว่า “พิพรีย์” ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “พิพพีล์” และ “ฟิฟรี” จึงสันนิษฐานกันว่าชื่อ “เมืองพริบพรี” เป็นชื่อเดิมของเมืองเพชรบุรี ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวัดพริบพลี ที่เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัด

ในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในกลุ่มหัวเมืองฝ่ายตะวันตก เจ้าเมืองผู้ปกครองเพชรบุรีล้วนเป็นผู้ที่สืบเชื้อพระวงศ์ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ จังหวัดเพชรบุรีได้เปลี่ยนเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดให้สร้างพระราชวัง วัด และพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ยๆ ใกล้กับตัวเมือง และพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี”

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือที่เรียกกันว่า “วังบ้านปืน” และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้สร้างพระราชวัง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ขึ้นที่ชายหาดชะอำในเวลาต่อมา เพื่อใช้เป็นที่ประทับรักษาพระองค์ ด้วยทรงเชื่อว่า อากาศชายทะเลและน้ำทะเลอาจบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ จังหวัดเพชรบุรีจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองสามวัง” นับแต่นั้นมา

ปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น ๘ อำเภอ คือ

- อำเภอเมืองเพชรบุรี
- อำเภอเขาย้อย
- อำเภอหนองหญ้าปล้อง
- อำเภอชะอำ
- อำเภอท่ายาง
- อำเภอบ้านลาด
- อำเภอบ้านแหลม
- อำเภอแก่งกระจาน

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดเพชรบุรี

• อำเภอเมือง
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)
เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ๙๒ เมตร เดิมเรียกว่า เขาสมนหรือเขาคีรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวัง สำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเพชรนิสัยศรีสวัสดิ์ ปลัดเมืองเพชรบุรีเป็นนายงานก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้
กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวัง บนยอดเขาด้านทิศตะวันตกจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่างๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริด และทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่างๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ทุกวันเว้นวันจันทร์ และวันอังคาร

ถ้ำเขาหลวง
อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ ๕ กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมียอดสูงสุดเพียง ๙๒ เมตร มีหินงอกหินย้อยสีสันสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น สำหรับถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่ และสำคัญที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี
ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่เสด็จประพาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดถ้ำเขาหลวงมาก ได้ทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วยกัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า “วัดถ้ำแกลบ” ปัจจุบันชื่อ “วัดบุญทวี” ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมือลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว


พระรามราชนิเวศน์ หรือ “พระราชวังบ้านปืน”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎรและให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนคร สวรรค์วรพินิต กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาลเดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล ฯลฯ
การเข้าชมต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบก กองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๑ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ๗๖๐๐ หรืออาจติดต่อที่ป้อมยามแลกบัตร เพื่อขอเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ

• อำเภอเขาย้อย
ถ้ำเขาย้อย
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อย หลังสถานีรถไฟเขาย้อย เป็นภูเขาโดดเด่นริมทางหลวงหมายเลข ๔ อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่ คล้ายกับถ้ำเขาหลวง หรือถ้ำเขาบันไดอิฐ ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้ว และต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงผนวชอยู่นั้นพระองค์ได้เสด็จธุดงค์วัตรมาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อย แล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน

วัดกุฏิ
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเค็ม เป็นวัดโบราณ พระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รอบพระอุโบสถด้านนอกสลักเป็นเรื่องทศชาติ มหาชาติ และไซอิ๋ว หน้าบันสร้างเป็นมุขประเจิด ลายหน้าบันเป็นลายไม้แกะสลัก ทางด้านข้างมีตับ หลังคาปีกนกลาดลง ๒ ชั้น เครื่องลำยองเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกมีลวดลายแกะสลักงดงาม บานประตูเป็นลายเถาทะลุโปร่ง แกะสลักลายลึก ฝีมือประณีตด้วยช่างชั้นครู มีผลิตภัณฑ์ “ยาหอมวัดกุฏิ” เป็นที่ขึ้นชื่อ

• อำเภอหนองหญ้าปล้อง
น้ำพุร้อน
อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรีประมาณ ๕๐ กิโลเมตร สามารถนำรถเข้าถึงบริเวณน้ำพุร้อนได้ หรือจากอำเภอหนองหญ้าปล้องเข้าไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตร มีน้ำพุ ๓ แอ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ เมตร ความร้อนของน้ำสามารถต้มไข่ให้สุกได้

• อำเภอบ้านแหลม
แหลมหลวง
อยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี ๑๕ กิโลเมตร ตามเส้นทางเดียวกับทางไปหาดเจ้าสำราญ โดยแยกซ้ายก่อนถึงหาดเจ้าสำราญเล็กน้อย ลักษณะเป็นปลายแหลมของหาดทรายยื่นยาวออกไปในทะเลถึง ๒ กิโลเมตร เป็นชายทะเลที่สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

หมู่บ้านบางขุนไทร
ตั้งอยู่ตำบลบางขุนไทร จากตัวเมืองไปทางบ้านแหลม ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปบางขุนไทรเป็นระยะทางอีก ๗ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพเก็บหอยเสียบ โดยใช้กระดานเลื่อนไปบนผิวเลน

• อำเภอท่ายาง
หาดปึกเตียน
อยู่ในท้องที่ตำบลปึกเตียน ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ ๗ กิโลเมตร หรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายางแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกคลองชลประทานสาย ๒ ไปตามถนนนี้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร บริเวณหาดปึกเตียนเป็นหาดทรายขาว สะอาด เหนือหาดมีลำคลองปึกเตียนไหลผ่าน

• อำเภอแก่งกระจาน
เขื่อนแก่งกระจาน
อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชร ๕๓ กิโลเมตร สามารถไปได้ ๒ ทาง คือ ไปทางอำเภอท่ายางขับรถต่อไปอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ก็จะถึงเขื่อนหรือไปตามทางหลวงหมายเลข ๔ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๑๘๖-๑๘๗ จะมีทางแขกขวามือเข้าไปตามทางอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตร เขื่อนแก่งกระจาน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ สูง ๕๘ เมตร เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี สันเขื่อนยาว ๗๖๐ เมตร กว้าง ๘ เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด ๒๕๐ เมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่และเป็นสถานที่เหมาะสำหรับพักผ่อนที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง


อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
เป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มากที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ถึง ๒,๙๑๕ ตารางกิโลเมตร หรือ ๑.๘ ล้านไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานฯ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสายที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ริมทะเลสาบตอนใต้ จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

• อำเภอชะอำ
หุบกะพง
อยู่ก่อนถึงชะอำประมาณ ๔ กิโลเมตร ตามเส้นทาง ๓๒๐๓ ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๐๑-๒๐๒ จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลาดยาง เข้าไปอีก ๘ กิโลเมตร ก็จะถึงสหกรณ์หุบกระพง ซึ่งอยู่ในตำบลเขาใหญ่ เขตอำเภอชะอำ แต่เดิมมีสภาพแห้งแล้ง จนในปี พ.ศ.๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในนิคมเขื่อนเพชร โครงการพัฒนาชนบท “หุบกระพง” ตามพระราชประสงค์จึงได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยมีประเทศอิสราเอลให้ความช่วยเหลือ โครงการนี้ชื่อว่า “โครงการไทย-อิสราเอล” ได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชผลต่าง ๆ ตามความต้องการของตลาด มีการแนะนำให้เกษตรกรรู้จักการปลูกพืชตามหลักวิชาการ และมีการจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตรหุบกระพง นักท่องเที่ยวสามารถซื้อผลิตผลทางการเกษตรได้ที่ ตลาดหน้าศูนย์สาธิต รวมทั้งสามารถซื้อสินค้าในโครงการศิลปาชีพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากป่านศรนารายณ์

หาดชะอำ
อยู่ห่างจากตัวเมือง ๔๑ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของสมเด็จกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา ชะอำได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และยกฐานะเป็นอำเภอจนปัจจุบัน

วนอุทยานชะอำ
อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมเลยสี่แยกอำเภอชะอำไปทางใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๔๐๐ กว่าไร่ ภายในวนอุทยานฯ มีสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีไม้ดอกไม้ประดับสวยงามมากมาย มีต้นไม้ใหญ่น้อย ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วย ผู้สนใจนำไปตกแต่งประดับสถานที่ต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่วนอุทยานฯ

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้รับขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ลักษณะเป็นพระตำหนักไม้สองชั้น หันหน้าออกสู่ทะเล พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสุนทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา พระที่นั่งพิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหมู่พระที่นั่งตรงกลางประกอบด้วยห้องต่างๆ สำหรับสำราญพระอิริยาบถ ห้องพักข้าราชบริพารที่คอยรับใช้ใกล้ชิด ห้องทรงพระอักษร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่างๆ และเป็นโรงละครซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทร
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เจ้าพระยารามราฆพ ได้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชานุสรณ์ประดิษฐานไว้ ณ ท้องพระโรงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และได้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เป็นประจำทุกปี


เทศกาลและงานประเพณีประจำจังหวัดเพชรบุรี

• งานพระนครคีรีและของดีเมืองเพชร
เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี โดยเฉพาะพระนครคีรีและมรดกศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ที่มีสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนเผยแพร่สิ่งดีงามต่างๆ ของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากยิ่ง ขึ้น ทางจังหวัดจึงจัดงานพระนครคีรี-เมืองเพชร ขึ้นเป็นประจำราวเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงที่ตรงกับเทศกาลตรุษจีน
กิจกรรมในงานได้แก่ ขบวนแห่พยุหยาตราบุรพกษัตริย์ที่เคยครองเมือง เพชรบุรีในสมัยทวารวดีและศรีวิชัย นิทรรศการประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองเพชรบุรี การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สาธิตการปรุงอาหารคาวหวาน อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรบุรี การแสดงแสงเสียงที่บริเวณพระนครคีรี การประกวดพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟ ประกวดวัวงาม และ ประกวดผลไม้ การแข่งขันฟันอ้อย การเล่นวัวลาน การเห่เรือนก และมหรสพนานาชนิด

• งานปีใหม่ชายไทยทรงดำ
ถือเป็นวันรวมชาวไทยทรงดำจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น ทุกคนจะแต่งกายด้วยชุดสีดำ ที่ทอขึ้นเองในครอบครัว เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายที่น่าสนใจ
กำหนดจัดงานช่วงเดือนเมษายน และวันสงกรานต์ของทุกปี จัดขึ้นที่ วัดหนองปรง อ.เขาย้อย กิจกรรมในงาน มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการละเล่นต่างๆ ของชาวไทยทรงดำ ที่หาชมได้ยาก เช่น เล่นลูกช่วง เล่นแคน เล่นเพลงโต้ตอบกัน เป็นต้น นอกจากนี้จะได้เห็นการแต่งกายด้วยผ้าทอสีดำ ทั้งชายและหญิง มีความสวยงามแก่ผู้พบเห็น

• เทศกาลกินหอย ดูนก ตกหมึก
เป็นงานที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนด้านการท่องเที่ยว ใน จ.เพชรบุรี จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด ช่วงวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกันยายนของทุกปี งานจะมีประมาณ ๙ วัน บริเวณหาดชะอำ
ในวันแรกของงานจะมีการแข่งเรือหลายประเภท เช่น เรือลากกล้วย เรือเร็ว เป็นต้น ภายในงานจะมีการออกร้านของหน่วยงานต่างๆ ทั้งของราชการ และโรงแรม สถานประกอบการต่างๆ ซึ่งมีทั้งการจำหน่ายอาหารทะเลสดใหม่ โดยเฉพาะหอยหลากชนิด ทั้งหอยแมลงภู่ หอยแครง หอยหวาน หอยตลับ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันดื่มเบียร์ กินหอย บนเวที พร้อมการแสดงต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเที่ยงคืน ในงานนี้ยังมีกิจกรรมดูนก บริเวณวนอุทยานเขานางพันธุรัต ซึ่งเป็นป่าบนเขาหินปูน และตามทุ่งตะกาด ซึ่งมักมีนกชายเลน อพยพมาในฤดูหนาว นอกจากนี้ยังพาไปชมค้างคาว ที่เขานายาง ส่วนการตกหมึกนั้น เป็นกิจกรรมที่จัดให้นั่งเรือออกไปตอนกลางคืน ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง คิดค่าบริการคนละ ๕๐ บาท เป็นการสัมผัสวิถีชีวิตชาวประมง ชายฝั่งที่ออกไปหาปลาตอนกลางคืน

• การวิ่งวัวลานคน
เป็นการแข่งขันที่ดัดแปลงมาจากกีฬาวัวลาน โดยใช้คนวิ่งแทนวัว มีกติกา เหมือนกันทุกประการ ไม่แต่เฉพาะชาวบ้านในท้องถิ่นเท่านั้น มีผู้คนท้อง ถิ่นต่างๆ เดินทางมาร่วมแข่งขันด้วยจึงเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน และมี เพียงแห่งเดียวที่จังหวัดเพชรบุรี แต่มีกำหนดการเล่นที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่ กับว่าท้องที่ใดจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งบางครั้งก็จัดขึ้นในช่วง สงกรานต์

• ประเพณีเล่นเพลงปรบไก่ขอฝน
เป็นการละเล่นของชาวบ้านตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด เป็นการบวงสรวงศาลหลวงปู่เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ โดยจะเล่นกันในวันเพ็ญเดือน ๖ ลักษณะการเล่นเพลงปรบไก่นี้ จะมีพ่อเพลงแม่เพลงแต่งกายพื้นบ้านสีสดใส หลังจากพิธีกรรมต่างๆ รวมถึงการไหว้ครูแล้ว ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะสลับกันร้องและร่ายรำอยู่กลางวง ท่าร่ายรำของฝ่ายชายปัดไปปัด มาคล้ายกับอาการป้อของไก่ตัวผู้ อาจเป็นเพราะลักษณะนี้จึงเรียกว่าเพลง ปรบไก่ บทเพลงที่ใช้ร้องเป็นบทเกี้ยวพาราสีกัน และเล่นเป็นเรื่อง 2 เรื่อง คือ ไกรทอง และสุวิญชา เมื่อร้องไปรำไปใครเหนื่อยก็หยุดพักดื่มน้ำ รับประทาน อาหาร กินหมาก แล้วก็เริ่มเล่นต่อจนจบเรื่อง
ประเพณีทอดกฐิน

เมื่อพระพุทธศาสนา เผยแผ่เข้ามายังสุวรรณภูมิและประดิษฐานอยู่บนผืนแผ่นดินนี้อย่างสถิตย์สถาพร ประชาชนชาวไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแผ่นดินสยามได้ทรงรับเรื่องกฐินนี้ขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธี ทำให้เรียกกฐินนี้ว่า “กฐินหลวง” วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้วจะเรียกว่า กฐินหลวง ทั้งสิ้น ในสมัยต่อๆ มา เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณาให้ถวายผ้าพระกฐินได้ตามสมควรแก่ฐานะ

• ประเภทของกฐิน
กฐินหลวง : เมื่อถึงเทศกาลทอดกฐิน การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธีดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้เรียกกันว่า กฐินหลวง วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางผ้าพระกฐินแล้ว เรียกว่ากฐินหลวงทั้งสิ้น ในปัจจุบันกฐินหลวงแบ่งออกเป็นประเภทดังนี้
๑. กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ ณ วัดสำคัญ ๆ ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้น มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย
๒. กฐินต้น กฐินนี้เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์
๓. กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวง นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง เหตุที่เกิดกฐินพระราชทานก็เพราะว่าปัจจุบันวัดหลวงมีเป็นจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้
กฐินราษฎร์ : เป็นกฐินที่ราษฎรหรือประชาชน ผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปทอด ณ วัดต่าง ๆ เว้นไว้แต่วัดที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องกฐินหลวง

• อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน
๑. ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกาลเวลากำหนดที่เรียกว่ากาลทาน คือในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา ๑ เดือนเท่านั้น ซึ่งในข้อถวายทานตามกาลนี้มีพระพุทธภาษิตหนึ่งว่า ผู้ที่ให้ทานตามกาลความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้นย่อมสำเร็จได้
๒. ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
๓. ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป
๔. จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง ๓ กาล คือก่อนทอด กำลังทอดและทอดแล้วที่เลื่อมใสศรัทธาและปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่จิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ
๕. การทอดกฐินทำให้เกิดสามัคคีธรรม คือการร่วมมือกันทำคุณงามความดีและถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วย ก็เป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุ ศาสนสถานให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป

แหล่งที่มา : หนังสือแนวทางการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)
: http://www.abhidhamonline.org
: http://www.watkoh.com/data/ssn_phitee/katin.php
: http://www.mcupl.th.edu/main/bhikkhu/gatin.html